วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทวีปแอฟริกา



ขนาด ที่ตั้ง และอาณาเขตติดต่อ :

ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกาตั้งอยู่ระหว่างประมาณละติจูด 37 องศาเหนือ ถึง 34 องศาใต้ ลองจิจูด 51 องศาตะวันออกถึง 17 องศาตะวันตก โดยมีเส้นศูนย์สูตรผ่านกลางทวีป ทำให้ครึ่งหนึ่งของทวีปแอฟริกาอยู่ทางซีกโลกเหนือและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ทางซีกโลกใต้ มีพื้นที่ประมาณ 30 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 20 ของพื้นแผ่นดินของโลก ความกว้างใหญ่ของทวีปแอฟริกา ทำให้ปรากฏลักษณะทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างกัน เช่น ส่งผลให้ภูมิอากาศเป็นแบบเขตร้อน(Tropic)จนถึงอบอุ่น ทำให้มีปริมาณฝนมากแถบชายฝั่งจนถึงปริมาณฝนน้อยแถบทะเลทรายที่อยู่ตอนในแผ่นดิน มีพืชพรรณธรรมชาติทั้งป่าดิบจนถึงทุ่งหญ้าเขตแห้งแล้ง ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชากร ทวีปแอฟริกามีประชากรประมาณ 872 ล้านคน (พ.ศ. 2547) ใน 54 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากรโลก ทวีปแอฟริกามีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า " ทวีปมืด " หรือ " กาฬทวีป " เนื่องจากสมัยก่อนเป็นดินแดนลึกลับไม่มีใครรู้จัก ประกอบกับความล้าหลังทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ ขาดการศึกษา สุขภาพอนามัยไม่ดี ขาดแคลนเงินทุน การพัฒนาในด้านต่างๆ จึงกระทำได้ยากลำบาก
นอกเหนือจากทวีปแอฟริกายังได้ชื่อว่าเป็นทวีปเมืองขึ้น หรือทวีปแห่งอาณานิคม เพราะดินแดนในทวีปแอฟริกานั้น ในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของประเทศตะวันตกต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น เพิ่งจะได้รับเอกราชปกครองตนเองหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ปัจจุบันทวีปแอฟริกาเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประชาคมโลก สมัยก่อน โดยในสมัยก่อนชาวยุโรปจะให้ความสนใจทวีปเอเชีย เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากร และตลาดการค้า ในปัจจุบัน ความคิดเช่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป ชาวยุโรปได้เริ่มเห็นความสำคัญของทวีปแอฟริกา เช่น ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือติดต่อระหว่างทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ เป็นต้น

อาณาเขตติดต่อของทวีปแอฟริกา

ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีช่องแคบยิบรอลตาร์เป็นทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก คลองสุเอชและทะเลแดงเป็นทางออกสู่สมุทรอินเดีย พื้นที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เรียกว่า บาร์บารี (Barbary)

ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลแดง อ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ลำดับ 4 ของโลกรองจากเกาะกรีนแลนด์ เกาะนิวกินี และเกาะบอร์เนียว โดยมีช่องแคบโมซัมบิก คั่นกับตัวทวีป เกาะอื่นๆ ได้แก่ หมู่เกาะมอริเชียส เกาะเซเชลส์ และเกาะคอโมโรส

ทิศใต้ ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีอ่าวกินีเป็นอ่าวที่ใหญ่ตอนกลางทวีป เกาะสำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะเคปเวิร์ด หมู่เกาะคานารี และหมู่เกาะมาเดียรา

ภูมิภาคของทวีปแอฟริกา

ภูมิภาคของทวีปแอฟริกา :

ทวีปแอฟริกาประกอบด้วย ประเทศเอกราชและดินแดนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบ่งได้เป็น 5 ภูมิภาค คือ
1. แอฟริกาเหนือ ประกอบด้วยประเทศแอลจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก ซูดาน ตูนิเซีย และดินแดนสะฮาราตะวันตก
2. แอฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยประเทศเบนิน บูร์กินาฟาโซ เคปเวิร์ด โกตดิวัวร์ แกมเบีย กานา กินี กินีบิสเซา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน และโตโก
3. แอฟริกาตะวันออก ประกอบด้วยประเทศบุรุนดี คอโมโรส จิบูตี เอริเทรีย เอธิโอเปีย เคนยา มาดากัสการ์ มาลาวี บอริเชียส โมซัมบิก เรอูเนียง รวันดา เซเชลส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย ยูกันดา แซมเบีย ซิมบับเว
4. แอฟริกากลาง ประกอบด้วยประเทศแองโกลา แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชาด คองโก อิเควทอเรียลกินี กาบอง เซาโตเมและปริสซิเป และซาอีร์
5. แอฟริกาใต้ ประกอบด้วยประเทศบอตสวานา เลโซโท นามิเบีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสวาซิแลนด์

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปแอฟริกา

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปแอฟริกา :

ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่ไม่ค่อยมีคาบสมุทร อ่าวและทะเล เนื้อที่ประมาณ 2 ใน 3 ของทวีปเป็นที่ราบสูง ส่วนลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบมีอยู่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ดินแดนบริเวณชายขอบของทวีปเท่านั้น ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 4 เขต ดังนี้

1. เขตที่ราบสูงและเทือกเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เขตที่ราบสูงและเทือกเขานี้อยู่ในเขตประเทศโมร็อกโก แอลจีเรียและตูนิเซีย คือ เทือกเขาแอตลาส มียอดเขาสูงสุด ชื่อว่า ยอดเขาทูบคาล (4,167 เมตร) อยู่ในเขตประเทศโมร็อกโก ในเขตเทือกเขาแอตลาสประกอบด้วยเทือกเขาต่างๆ คือ
1.1 เทือกเขาแกรนด์แอตลาสในประเทศโมร็อกโกเป็นแกน
1.2 เทือกเขาแอนดิแอตลาสเป็นแนวขนานทางตอนใต้
1.3 เทือกเขาเทลล์แอตลาสเป็นแนวขนานด้านนอกบริเวณชายฝั่งในเขตประเทศโมร็อกโก แอลจีเรียและตูนิเซีย
1.4 เทือกเขาสะฮาราแอตลาสอยู่ทางใต้สุด

2. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ แอฟริกามีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 4 เขต คือ
2.1 ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีบริเวณแคบๆ ส่วนอยู่ในเขตประเทศซูดานและอียิปต์ แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำในเขตที่ราบสูง มีความยาวที่สุดในแอฟริกา และยาวที่สุดในโลก คือ 6,695 กิโลเมตร เกิดจากที่สูงและภูเขาทางตะวันออกของทวีป ไหลผ่านที่ราบสูงและทะเลทรายสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือ
2.2 ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ อยู่ในเขตประเทศมาลี ไนเจอร์ และไนจีเรีย แม่น้ำไนเจอร์เกิดจากภูเขาและที่สูงทางตะวันตกเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มอันกว้างขวาง บางตอนมีลักษณะเป็นที่ราบต่ำ มีน้ำแช่ขังเป็นที่ชื้นแฉะ ใช้เพาะปลูกไม่ได้ มีความยาวเป็นลำดับที่ 3 ของทวีปแอฟริกา
2.3 ที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก อยู่ทางตอนกลางทวีปในเขตประเทศคองโก และซาอีร์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำกว้างขวางมากรองจากที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ แม่น้ำคองโกมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาด้านตะวันออกและที่ราบสูงภาคเหนือ มีความยาวเป็นลำดับที่ 2 ของทวีปแอฟริกา และยาวเป็นลำดับที่ 7 ของโลก ไหลผ่านทะเลสาบ ที่ลุ่ม ที่ราบสูงหลายแห่ง จึงมีเกาะแก่งและน้ำตกมากมาย
2.4 ที่ราบลุ่มแม่น้ำแซมเบซี อยู่ในเขตประเทศแองโกลาและแซมเบีย บอตาสวานา ซิมบับเว เป็นแม่น้ำทางภาคใต้มีความยาวเป็นลำดับที่ 4 ของทวีป ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่ประเทศโมซัมบิก เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านที่ราบสูงและไหลเชี่ยวมาก ที่ราบลุ่มแม่น้ำนี้จึงมีเป็นบริเวณแคบๆ แม่น้ำในทวีปแอฟริกา มักมีแก่งน้ำตก (Cataract) และน้ำตกขนาดใหญ่ กั้นขวางลำน้ำอยู่เป็นตอนๆ เนื่องจากไหล
ผ่านบริเวณที่ราบสูง ทำให้เกิดการกัดเซาะได้รวดเร็ว เช่น แม่น้ำไนล์ มีแก่งน้ำตกกั้นขวางลำน้ำทางตอนใต้ของประเทศอียิปต์ กับทางตอนเหนือของซูดาน รวม 6 แห่ง และแม่น้ำคองโกมีแก่งน้ำตกกั้นขวางลำน้ำ 7 แห่ง น้ำตกขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ น้ำตกโบโยมา (น้ำตกสแตนลีย์) ในแม่น้ำคองโก เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในซาอีร์ มีปริมาณน้ำตก 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และน้ำตกวิกตอเรียในแม่น้ำแซมเบซี

3. เขตที่ราบสูงและภูเขาสูง เป็นเขตที่สูงมีอยู่ 2 บริเวณ คือ
3.1 เขตที่ราบสูงและภูเขาทางภาคตะวันออก เป็นเขตที่มีความสูงมาก ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ได้แก่ ที่ราบสูงเอธิโอเปีย และที่ราบสูงแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ยังอุดมด้วยภูเขาไฟทั้งที่ยังคุกรุ่นอยู่และดับแล้ว ในเขตนี้มีภูเขาที่มียอดสูงเกินกว่า 3,000 เมตรหลายยอด เช่น ยอดเขาคิลิมานจาโร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา อยู่ในเขตประเทศแทนซาเนีย (5,870 เมตร) เขตที่สูงทางภาคตะวันออกนี้มีทะเลสาบกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทะเลสาบวิกตอเรีย (เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ขอโลก รองจากทะเลสาบสุพีเรีย ทะเลสาบแทนแกนยิกา เป็นทะเลสาบที่มีน้ำลึกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (1,470 ม.) รองจากทะเลสาบไบคาล (1,617 ม.) ทะเลสาบมาลาวีหรือทะเลสาบนยาซา ฯลฯ
3.2 เขตภูเขาและที่ราบสูงภาคใต้ ประกอบด้วยที่ราบสูงกว้างเกือบ 1,300 กิโลเมตร จากทางตะวันตกถึงตะวันออก เป็นที่ราบสูงหินแกรนิตอยู่ระหว่างแม่น้ำวาลและแม่น้ำลิมโปโป เรียกว่า เดอะแรนด์ (The Rand) หรือ วิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand) เป็นแหล่งผลิตแร่ทองคำที่สำคัญของโลก ส่วนบริเวณที่สูงที่สุดอยู่ทางตะวันออก เป็นเทือกเขาดราเกนสเบิร์ก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ทางตอนในของเขตนี้มีลักษณะเป็นแอ่งรูปจานและทางตะวันตกเป็นเขตแห้งแล้งเป็นทะเลทราย ได้แก่ ทะเลทรายคาลาฮารี และทะเลทรายนามิบ

4. เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก เป็นที่ราบกว้างใหญ่มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลทรายสะฮาราถึงอ่าวกินี เขตนี้เป็นที่ราบสูงหินเก่า โดยมีพื้นที่ผิวปกคลุมด้วยหิน กรวด ปูน ทราย และดินตะกอน ภูเขาที่สำคัญในเขตนี้ได้แก่ ภูเขาอะฮักการ์ทางตอนใต้ของประเทศแอลจีเรีย ภูเขาทีเบสต์ในประเทศชาด ซึ่งเป็นสภาพภูมิประเทศที่มีส่วนช่วยให้เกิดฝนตกในเขตทะเลทราย ทางใต้ของเขตนี้มีที่ราบสูงหลายแห่ง เช่น ที่ราบสูงกินี ที่ราบสูงจอส ที่ราบสูงแคเมอรูน เป็นต้น

เทือกเขาสำคัญในทวีปแอฟริกา

เทือกเขาแอตลาส(Atlas Mountains) เป็นเทือกเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา แผ่กว้างขยายไปด้วยความยาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร หรือ 1,500 ไมล์ มีจุดสูงสุดคือยอดเขา Jbel Toubkal ที่ความสูง 4,167 เมตร เทือกเขาแอตลาสนี้ได้แบ่งแยกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และชายฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกจากทะเลทรายซาฮารา



เทือกเขาคิลิมันจาโร (Mount Kilimanjaro) ยอดเขาคิลิมันจาโรมีชื่อภูเขามาจากภาษาสวาฮีลี หมายความว่า "ภูเขาที่ทอแสงแวววาว" ยอดเขาคิลิมันจาโรตั้งอยู่ในเขตประเทศแทนซาเนียใกล้พรมแดนประเทศเคนย่า ลักษณะเป็นภูเขาไฟยอดเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก และเป็นยอดเขาที่สุดที่สุดในทวีปแอฟริกาอีกด้วย มีความสูงกว่า 5,895 เมตร ตรงบริเวณยอดเขามียอดเข้าด้วยกัน 3 ยอด เรียงตามลำดับความสูง ยอดคีโบเป็นยอดทีสูงที่สุดกว่า 5,895 เมตร ยอดมาเวนซีมีความสูงกว่า 5,353 เมตร อยู่ติดกับยอดคีโบ และ ยอดชีร่าเตี้ยที่สุดมีความสูงเพียง 3,778 เมตร บริเวณฐานเขามีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร และกว้างถึง 75 กิโลเมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ซึ่งบริเวณยอดเขามีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาอีกด้วยซึ่งยาวกว่า 4,500 เมตร และเป็นเพียงภูเขาไม่กี่ลูกในแอฟริกาที่มีธารน้ำแข็ง โดยเฉพาะภูเขาที่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจะหาได้น้อยมากที่จะมีธารน้ำแข็งแบบเดียวกันนี้ ยอดเขาคิลิมันจาโรได้กำเนิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าเคยเกิดระเบิดใหญ่ถึง 3 ครั้ง จึงทำให้มียอดเขา 3 ลูกดังที่กล่าวข้างต้น บริเวณที่ลาดเขาช่วงล่างเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ป่าดงดิบจะพบได้ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรขึ้นไป ที่ระดับความสูง 3,500 ขึ้นไปจะพบพรรณพืชแบบทุ่งมัวร์มีมอสส์ขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ และที่ความสูงถัดจากหิมะลงมาเล็กน้อยจะพบพรรณพืชแบบป่าสน ส่วนบริเวณที่ราบรอบตีนเขาเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่ามาซายที่ทำอาชีพเลี้ยงวัว ควาย แพะ และ แกะ เพราะบริเวณรอบตีนเขามีทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์

แม่น้ำที่สำคัญในทวีปแอฟริกา

แม่น้ำไนล์(Nile River) เป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในโลกโดยมีความยาวทั้งสินประมาณ 6,700 กิโลเมตร แม่น้ำไนล์เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำสายใหญ่ 2 สายคือ แม่น้ำบลูไนล์ (Blue Nile) จากประเทศเอธิโอเปีย และแม่น้ำไวท์ไนล์ (White Nile) จากบริเวณแอฟริกาตะวันออก มารวมตัวกันในประเทศซูดาน จากนั้นไหลผ่านประเทศอียิปต์ และไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำสายที่หล่อเลี้ยงทวีปแอฟริกาที่แห้งแล้ง จนทำให้เกิดอารยธรรมโบราณขึ้นมากมาย โดยที่รู้จักกันดีคืออารยธรรมอียิปต์ เมื่อสมัยกว่าห้าพันปีที่แล้ว และยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่แถบนั้นด้วย



แม่น้ำไนเจอร์(Niger River) เป็นแม่น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ที่สำคัญของทวีปแอฟริกา อยู่ในส่วนแอฟริกาตะวันตกของประเทศมาลี ไนเจอร์ ไนจีเรีย ต้นน้ำอยู่ที่ประเทศเซียร์ราลีโอน ไหลลงสู่อ่าวกินี ทอดตัวยาวเป็นแนวกว่า 2,500 ไมล์
แม่น้ำไนเจอร์ เปรียบเสมือนเลือดชีวิตของ ประเทศมาลี เป็นแหล่งอาหาร, น้ำซึ่งเหมาะสำหรับดื่ม, และน้ำสำหรับการทำไร่ เป็นวิถีทางที่สำคัญที่ชาวมาลีได้รับ เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ให้พ่อค้าใช้สำหรับการขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้าอีกด้วย ระหว่างเดือนที่มีน้ำสูง (ระหว่าง สิงหาคม ถึง พฤศจิกายน) เรือใหญ่มากมายสามารถเดินทางเที่ยวชมตามแม่น้ำ เรือที่มีขนาดเล็กสามารถล่องในแม่น้ำได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย



แม่น้ำแซมเบซี(Zambezi River) มีต้นน้ำอยู่บริเวณที่ราบสูงบิเอไหลไปสู่ที่ต่ำกว่าทางด้านตะวันออก ไหลออกสู่ช่องแคบโมซัมบิกในเขตของประเทศโมซัมบิก ภูมิประเทศที่รองรับแม่น้ำสายนี้ มีลักษณะเป็นที่ราบสูงและมีความต่างระดับภายในค่อนข้างที่จะมาก จึงทำให้แม่น้ำค่อนข้างที่จะแคบและน้ำไหลเชี่ยว มีความยาวประมาณ 2,574 กิโลเมตร



แม่น้ำคองโก(Congo River) มีต้นน้ำจากที่สูงด้านตะวันออกและที่ราบสูงตอนใต้ของทวีป แม่น้ำคองโกนี้สามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งคือแม่น้ำ “ซาอีน์” มีความยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร ประกอบด้วยแควสาขามากมาย เช่น แม่น้ำคูอังโก แม่น้ำอูบังกี เป็นต้น

ทะเลสาบที่สำคัญในทวีปแอฟริกา

ทะเลสาบวิกตอเรีย(Lake Victoria) อยู่ในเขตติดต่อสามประเทศได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา ทะเลสาบวิกตอเรียนี้เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มีเนื้อที่ประมาณ 68,800 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ทะเลสาบวิกตอเรียยังเป็นทะเลสาบที่มีอายุน้อยที่สุดในแถบนี้ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาเกรตริฟต์แวลลีย์ และเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของทวีปแอฟริกา และทะเลสาบวิกตอเรียเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์ โดยมีแม่น้ำคาเกราไหลเข้ามายังทะเลสาบ


ทะเลสาบแทนแกนยิกา(Lake Tanganyika) มีเนื้อที่ประมาณ 32,900 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ในทวีปแอฟริการองจากทะเลสาบวิกตอเรีย นอกจากนี้ทะเลสาบแทนแกนยิกายังใหญ่เป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา ที่สำคัญมันเป็นทะเลสาบที่ลึกที่สุดในทวีปแอฟริกาโดยจุดที่มีความลึกที่สุดมีความลึกมากกว่า 1,470 เมตร ทะเลสาบแทนแกนยิกานี้เกิดจากการทรุดตัวของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเกรตริฟต์แวลลีย์



ทะเลสาบชาด(Lake Chad) เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีน้ำค่อนข้างตื้น เป็นแหล่งที่อยู่ที่สำคัญของนกหลายชนิด ในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูงในฤดูฝน ทะเลสาบจะคลอบคลุมพื้นที่มากกว่า 20,800 ตารางกิโลเมตร แต่บางช่วงเวลาขนาดพื้นที่ของทะเลสาบชาดนี้อาจลดเหลือเพียง 10,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึกเพียงแค่ 8 เมตร

คลองสุเอซ (The Suez Canal) เป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นในประเทศอียิปต์ ระหว่าง Port Said (Būr Sa'īd) ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ (Suez) บนฝั่งทะเลแดง มีความยาว 183 กิโลเมตร คลองสุเอซช่วยให้การเดินทางระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียสั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรือไม่ต้องเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกา ก่อนการสร้างคลองนั้น ใช้การขนถ่ายสินค้าทางบกระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง คลองสุเอซแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเหนือและส่วนใต้ โดยมีทะเลสาบเกรทบิทเทอร์ (Great Bitter) เป็นจุดกลาง สินค้าที่เดินทางผ่านคลองนี้ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง



ทะเลทรายที่สำคัญในทวีปแอฟริกา

ทะเลทรายซาฮารา (Sahara desert) เป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รองจากทะเลทรายในทวีปแอนตาร์กติกา) และเป็นทะเลทรายร้อนที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีเนื่อที่มากกว่า 9,000,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,500,000 ตารางไมล์ คำว่า ซาฮารา ในภาษาอาหรับ หมายถึง ทะเลทราย
อาณาเขตของทะเลทรายซาฮารา ด้านทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศเหนือคือเทือกเขาแอตลาสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกจรดทะเลแดงและประเทศอียิปต์ ทิศใต้จรดประเทศซูดานและหุบเขาของแม่น้ำไนเจอร์ และนอกจากนี้ทะเลทรายซาฮารายังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างปิโตรเลียมอีกด้วย

ทะเลทรายซาฮารา (Sahara desert)

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์
1. ในอดีตทวีปแอฟริกาได้รับฉายาว่า “ ทวีปมืด ” (Dark Continent) เพราะเหตุใด
ก. มีการกดขี่ใช้แรงงานทาส
ข. ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชนผิวดำ
ค. เป็นดินแดนลึกลับไม่มีใครรู้จัก
ง. มีอากาศร้อนและสัตว์ป่าดุร้าย

2. อาณาจักรอียิปต์โบราณเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว มีศูนย์กลางอาณาจักรอยู่ที่บริเวณของทวีปแอฟริกา
ก. ลุ่มแม่น้ำคองโก
ข. ลุ่มแม่น้ำไนล์
ค. ตอนใต้ของทวีป
ง. ตอนกลางของทวีป

3. พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา อยู่ในเขตละติจูดใด
ก. 3 ใน 4 ของซีกโลกเหนือ
ข. 3 ใน 4 ของซีกโลกใต้
ค. เขตละติจูดสูง มีอุณหภูมิต่ำ
ง. เขตทรอปิก(Tropic) หรือเขตร้อน

4. ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ของทวีป คืออะไร
ก. ที่ราบสูง
ข. ที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ค. เขตเทือกเขาสูง
ง. เขตทะเลทราย

5. ทวีปแอฟริกามีพื้นที่ประมาณเท่าไร และจัดอยู่ในอันดับที่เท่าไรของโลก
ก. 40 ล้านตารางกิโลเมตร อันดับที่ 2
ข. 40 ล้านตารางกิโลเมตร อันดับที่ 3
ค. 30 ล้านตารางกิโลเมตร อันดับที่ 2
ง. 30 ล้านตารางกิโลกเมตร อันดับที่ 3

6. ลักษณะภูมิประเทศที่เด่นที่สุด ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาคือข้อใด
ก. แม่น้ำไนล์
ข. ที่ราบสูงเอธิโอเปีย
ค. เทือกเขาแอตลาส
ง. ทะเลทรายสะฮารา

7. ที่ราบลุ่มแม่น้ำข้อใด เป็นที่ราบผืนใหญ่ครอบคลุมบริเวณภาคกลางของทวีปแอฟริกา ตัวแม่น้ำไหลผ่านพื้นที่ที่มีระดับความสูงแตกต่างกันทำให้เกิดเกาะแก่งและน้ำตกมากมาย
ก. ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์
ข. ที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก
ค. ที่ราบลุ่มแม่น้ำแซมเบซี
ง. ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์

8. เส้นทางเดินเรือสมุทรเชื่อมระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีประเทศอียิปต์เป็นเจ้าของ คือข้อใด
ก. คลองสุเอซ
ข. คลองปานามา
ค. แม่น้ำไนล์
ง. ช่องแคบยิบรอลตาร์

9. ความสำคัญของเขตที่ราบสูงหินแกรนิต “ เดอะแลนด์ ” ทางภาคใต้ของทวีปแอฟริกา คือข้อใด
ก. แหล่งทองคำที่สำคัญของโลก
ข. มีเทือกเขาสูงดราเกนสเบิร์ก
ค. มีดินภูเขาไฟอันอุดมสมบูรณ์
ง. แหล่งป่าไม้เขตอบอุ่นที่สมบูรณ์

10. เขตทะเลทรายสะฮาราทางภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญชนิดใด
ก. ถ่านหิน
ข. ปิโตรเลียม
ค. ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
ง. พลังงานแสงอาทิตย์

เฉลย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์

เฉลย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์
1. ค
2. ข
3. ง
4. ก
5. ค
6. ค
7. ข
8. ก
9. ก
10. ข

บรรณานุกรม

-บรรณานุกรม(เอกสารอ้างอิง)

หนังสือ :

ดร. ประเสริฐ วิทยารัฐ และคณะ. Atlas แผนที่ภูมิศาสตร์ - ประวิติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๔๔.

อินเตอร์เน็ต :

- http://www.kullawat.net
-
http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
- http://th.wikipedia.org/wiki/Main_Page
- http://www.google.com
- http://www.wonder7th.com
- http://bp-smakom.org/BP_School/Social/